ในปัจจุบันการถ่ายรูปเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านกล้องบนมือถือ แต่การถ่ายภาพนั้น มีศิลปินถ่ายภาพ ที่ทำเป็นอาชีพอยู่ทั่วโลก ช่างภาพ หรือ ช่างถ่ายภาพ คือบุคคลที่มีความชำนาญในการถ่ายภาพและสามารถจัดวางองค์ประกอบของภาพก่อนลงมือถ่ายภาพ โดยใช้กล้อง อาจจัดได้ว่าเป็นศิลปิน เนื่องจากช่างภาพสามารถจัดวางองค์ประกอบ (composition) ที่จะปรากฏในรูปภาพก่อนลงมือถ่าย คล้ายกับวิธีของศิลปินวาดภาพทั่วไป ประเทศไทยเราเอง ก็มีช่างถ่ายภาพเก่งๆหลายคนเลย วันนี้เราจึงพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 4 ช่างภาพสัญชาติไทย ฝีมือชั้นครู
1. พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธุ์

ก่อนที่พันธ์สิริจะมาเป็นช่างภาพแฟชั่นชื่อดังในวันนี้ พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธุ์ เพียงหลงรักการถ่ายภาพเท่านั้น “เราโชคดีที่เรารู้ตั้งแต่อายุยังน้อยว่าเราอยากทำงานกับกล้อง” พันธ์สิริกล่าว “และเรารู้สึกดีที่เราสามารถทำสิ่งที่รักให้มันเป็นอาชีพได้”
แม้ว่าจะเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้วที่พันธ์สิริเริ่มถ่ายภาพในระดับมืออาชีพ แต่พันธ์สิริบอกว่าพันธ์สิริสนุกกับโลกแห่งการถ่ายภาพแฟชั่นมากเหมือนเดิมเหมือนตอนที่เพิ่งเริ่ม แม้ว่าบัณฑิตจาก San Francisco Academy of Arts จะชอบเรียกตัวเองว่าคนผลิตภาพมากกว่าก็ตาม “เราคิดว่าสไตล์การถ่ายภาพของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” พันธ์สิริกล่าว “สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือเราพยายามผลักดันขอบเขตตัวเอง ใช้แนวคิดและสะท้อนผ่านทางภาพถ่ายไปให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้”
สไตล์ของปี 1970 และ 80 คือแรงบันดาลใจของพันธ์สิริ “อาจเป็นเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทำให้เราเป็นเราในวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ยังตราตรึงอยู่ในใจ แต่สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันก็มีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้เราเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ดู เพลงที่ฟัง การเดินทาง ประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน” พันธ์สิริอธิบาย พันธ์สิริเป็นแฟนตัวยงของ Irving Penn ช่างภาพชาวอเมริกันที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการถ่ายภาพแฟชั่นภาพบุคคลและงานภาพนิ่ง “หากเราสามารถเลือกทานอาหารเย็นกับใครก็ได้คนหนึ่ง ไม่ว่าที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว เราคงเลือกช่างภาพชาวเยอรมัน-ออสเตรเลีย Helmut Newton เขาเสียชีวิตในปี 2004 แต่ภาพที่เร้าใจและปลุกกามอารมณ์อย่างภาพขาวดำสำหรับนิตยสาร Vogue และนิตยสารอื่น ๆ จะเป็นแรงบันดาลใจของใคร ๆ ไปอีกหลายปีข้างหน้า” พันธ์สิริยิ้ม
ในแง่ของความท้าทายในการเป็นช่างภาพ พันธ์สิริยังจำวันแรก ๆ ของการเดินทางสายนี้ได้อย่างดี “มันยาก” พันธ์สิริกล่าว “ช่างภาพรุ่นใหม่มีข้อได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีซึ่งแทบไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมนี้ในตอนที่เราเริ่ม วันนี้อะไร ๆ มันดูง่าย แต่เมื่อสมัยที่เรายังเด็กและพยายามทำให้งานฝีมือของเราสมบูรณ์แบบที่สุด เราจำได้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยได้งานที่ปารีส เราไม่มีผู้ช่วยเราเลยต้องขนทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งกล้องและอุปกรณ์ไฟต่าง ๆ ต้องขนทุกอย่างเดินรอบเมืองด้วยตัวเอง บอกได้เลยว่ามันเหนื่อยมาก” พันธ์สิริหัวเราะเบา ๆ
เมื่อพูดถึงวิธีการถ่ายภาพ พันธ์สิริเชื่อว่าการสื่อสารผ่านภาพเป็นกุญแจสำคัญ “ใคร ๆ ก็สามารถถ่ายภาพได้” พันธ์สิริกล่าว “แต่สำหรับเรา มันไม่ใช่แค่การถ่ายภาพเพื่อจับโมเมนต์นั้น ๆ มันต้องสามารถสื่อสารสิ่งที่คุณอยากจะบอก แนวคิดและเรื่องราวกลับไปยังผู้ชมได้” ปัญญามาพร้อมกับประสบการณ์และเมื่ออายุมากขึ้น พันธ์สิริได้ทำใจยอมรับกับสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวตนของพันธ์สิริ “คือเราทำงานตรงนี้ เราถ่ายภาพคนหน้าตาดีที่มักจะนุ่งน้อยห่มน้อย แต่ในชีวิตส่วนตัวของเรา เราชอบฝึกปฏิบัติธรรมและนั่งสมาธิมาก” ผลงานล่าสุดของพันธ์สิริเป็นการถ่ายภาพแนว Abstract ถ่ายทอดการทำสมาธิ สันติสุขของจิตใจและจิตวิญญาณ “เรารู้ว่ามันตลกที่เราหลงใหลในสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน” พันธ์สิริกล่าว
2. วสันต์ ผึ่งประเสริฐ

วสันต์ ผึ่งประเสริฐ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ เริ่มอาชีพบนเส้นทางการถ่ายภาพในวัย 20 ต้น ๆ และรับงานทุกรูปแบบก่อนที่จะเอาจริงเอาจังในสายแฟชั่น “จริง ๆ แล้วผมใช้เวลาประมาณหกปีก่อนที่ฉันจะกลายเป็นสิ่งที่คุณเรียกช่างภาพแฟชั่น” เขายิ้ม “แต่ผมมักจะชอบการถ่ายภาพผู้คนโดยเฉพาะภาพ portraits”
เช่นเดียวกับคุณพันธ์สิริ คุณวสันต์กล่าวถึงช่างภาพผู้มีอิทธิพลหลายคนรวมถึง Irving Penn ผู้โด่งดัง ซึ่งอธิบายได้เป็นอย่างดีว่าทำไมภาพแฟชั่นของเขาส่วนใหญ่จึงเป็นภาพสี แต่เขาก็ชอบภาพถ่ายสีขาวดำเป็นพิเศษ “เมื่อผมถ่ายรูปของผมเอง หรือพูดได้ว่าภาพที่ไม่ใช่งานที่ลูกค้าจ้างมา ผมชอบถ่ายภาพขาวดำมากกว่า” เขากล่าว จึงทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าช่างภาพใส่ตัวตนของพวกเขามากแค่ไหนเมื่อเทียบสิ่งที่ลูกค้าต้องการ “อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากหน่อย แต่คุณต้องจำไว้ว่าเราทุกคนเห็นสิ่งเดียวกันจากมุมมองที่แตกต่างกัน มันยังพอมีทางที่คุณจะได้ตกแต่งจินตการของคุณให้พอดีและตอบสนองความต้องการของลูกค้า นี่คือเหตุผลที่ผมบอกตรง ๆ ว่าผมยังรู้สึกประหม่าทุกครั้งเมื่อเริ่มงานถ่ายภาพแต่ละครั้ง”
เช่นเดียวกับช่างภาพท่านอื่น ๆ ที่เราได้พูดคุยด้วย คุณวสันต์ได้รับการฝึกฝนเทคนิคการถ่ายภาพแบบโอลสคูล รวมถึงการอัดภาพจากห้องมืด ดื่มด่ำไปกับความสนใจในภาพถ่ายแบบคลาสสิก เขาใช้เวลาศึกษาภาพถ่ายตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1900 จนถึงยุคบุกเบิกของการถ่ายภาพ “มันมีบางสิ่งที่ดึงดูดใจมากเกี่ยวกับภาพถ่ายในสมัยนั้น การใช้แสงและวิธีการสรรค์สร้างให้สิ่งที่ถูกถ่ายดูมีเสน่ห์ทำให้ผมทึ่งเสมอ” เขากล่าว “ผมยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้ถ่ายภาพของดาราฮอลลีวูดชาวดสวีดิช-อเมริกัน Greta Garbo ในตอนนั้น”
ถึงแม้เขาจะหลงรักกับภาพถ่ายในยุคนั้นมากแค่ไหน คุณวสันต์ยอมรับว่าวิวัฒนาการของอุปกรณ์ถ่ายภาพและการกำเนิดของโลกดิจิทัลทำให้งานของเขานั้นง่ายขึ้นมาก ความจริงแล้วเขาคือหนึ่งในนักเดินทางที่ชื่นชอบการใช้โทรศัพท์เพื่อเก็บภาพต่าง ๆ ไม่เพียงเท่านั้นแต่เขายังมีเลนส์เสริมพิเศษไว้ใช้โทรศัพท์ของเขาโดยเฉพาะ “แต่จะว่าไป หากผมเดินทางเพื่อพักผ่อน ผมก็ไม่ค่อยได้ถ่ายรูปสักเท่าไหร่” เขาหัวเราะและพูดต่อ “ช่างภาพก็ต้องการการพักผ่อนเหมือนกัน ผมชอบที่จะเงยหน้าขึ้นและเปิดตาดูวิวทิวทัศน์และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวผม มันต่างกับการพยายามเฟรมช็อตถ่ายภาพในสตูดิโออย่างมาก”
นอกจากการถ่ายภาพแฟชั่นชั้นสูงแล้ว คุณวสันต์ยังสอนและบรรยายที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่เขาพยายามปลูกฝังให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่องคือพวกเขาไม่ควรหยุดพัฒนา “มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะมีความกระหายความรู้และอยากค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา” เขาอธิบาย “คุณจะต้องอยากรู้อยากเห็น ถามคำถามและลองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในระหว่างทาง คุณอาจค้นพบตัวตนที่แท้จริงของคุณเอง ทักษะการถ่ายภาพคุณจะได้ใช้มันอย่างแน่นอน อีกทั้งผมยังสอนให้นักเรียนรู้จักความเคารพ สิ่งหนึ่งที่ผมทนไม่ได้คือคนที่ไม่มีความเคารพ” เขากล่าว “การมีสัมพันธมิตรและสุภาพไม่ต้องลงทุนสักบาท แถมทำให้การทำงานของทุกคนที่เกี่ยวข้องราบรื่นขึ้นอีกด้วย”
3. ณัฐ ประกอบสันติสุข

ณัฐ ประกอบสันติสุข ค้นพบโลกหลังเลนส์ของเขาหลังจากใช้เวลาถึง 8 ปีในวงการแฟชั่นในฐานะ Stylist “ผมจำได้ว่าผมยังรู้สึกขาดอะไรไปบางอย่างในชีวิต ผมเลยตัดสินใจว่าผมต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จากการที่เราทำงานกับช่างภาพหลาย ๆ คน แล้วเราได้เห็นการทำงานของพวกเขา ผมเลยตัดสินใจเรียนต่อด้านการถ่ายภาพที่ลอนดอนเป็นเวลาหนึ่งปี ผมไม่มีปัญหาด้านการจัดองค์ประกอบความสวยงามของภาพหรือแนวความคิดเกี่ยวกับการถ่ายภาพอะไรพวกนั้น แต่ผมแทบไม่รู้เรื่องกลไกของกล้องเลย ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องเลนส์ เวลาเปิดรับแสง เอฟเฟกต์สี และแม้กระทั่งวิธีการล้างภาพในห้องมืดคือความท้าทายครั้งใหญ่” เขากล่าว
เขายังจำครั้งแรกที่เขาล้างรูปใบแรกของเขาได้ “ครั้งแรกที่ผมล้างรูปชุดแรกเสร็จ ผมผิดหวังกับภาพที่ได้มากถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยทีเดียว ผมได้แต่คิดว่าผมทำพลาดตรงไหน จากนั้นไม่กี่วันต่อมาผมได้รับภาพชุดที่สอง มันออกแบบในแบบที่ผมต้องการ ผมคิดว่านั่นคือชั่วขณะที่ผมเริ่มตกหลุมรักการถ่ายภาพ มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากที่ผมสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในสมองออกมาได้โดยผ่านการถ่ายภาพ”
ในขณะที่เขาหยุดชะงักเมื่อถูกถามเรื่องการจัดหมวดหมู่หรือพูดถึงสไตล์งานของเขา คุณณัฐบอกว่าเขารับมือกับการถ่ายภาพเหมือนกับที่เขารับมือกับชีวิต “ด้วยจินตนาการของผม ความชอบผจญภัย และผมรักการอ่าน ดังนั้นมันก็เหมือนเวลาได้อ่านหนังสือดี ๆ สักเล่ม เมื่อผมถ่ายภาพ ผมมีภาพจินตนาการในหัวของผมพร้อมด้วยตัวละครเอกและศัตรู เราอยู่ในธุรกิจที่ทำงานกับคน แน่นอนว่าเราอาจจะต้องทำเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามให้ดูดี แต่เราต้องคำนึงถึงผู้รับสารปลายทางด้วย เพื่อถ่ายทอดข้อความที่ต้องการผ่านภาพจินตนาการภาพหนึ่ง ภาพที่ท้าทายทั้งมุมมองและทัศนคติและอื่น ๆ อีกหลายด้าน นั่นเป็นเหตุผลที่ผมอ่านหนังสือเยอะมาก ผมต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ให้มากขึ้นและเพื่อที่จะทำให้ภาพของผมเต็มไปด้วยความรู้นั้น ๆ การถ่ายภาพที่ดีนั้นเป็นมากกว่าการสร้างภาพสวย ๆ ภาพหนึ่ง”
อันที่จริงแล้วคุณณัฐเป็นหนอนหนังสือและนักเดินทางที่คอยมองหาประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป เขารักการอ่านมากพอที่เขาและน้องสาว คุณสีวิกา นักเขียนชื่อดัง ร่วมกันเปิด World at the Corner ร้านหนังสือที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทาง และหวังว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่จะเป็นประตูสู่โลกอื่นสำหรับนักอ่านคนอื่น ๆ “เมื่อผมไม่ต้องออกไปทำงานถ่ายภาพ ร้านหนังสือเป็นที่สงบของผม” เขากล่าว “ผมมีความสุขมากที่ได้อยู่ท่ามกลางหนังสือและผมเห็นตัวเองตั้งรกรากบริหารงานที่ World at the Corner เมื่อผมเกษียณอายุ” เขาหัวเราะ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาวางแผนที่จะปลีกตัวจากการถ่ายภาพแฟชั่นเมื่อมีเวลาว่าง “ผมจะเดินทางบ่อย ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะผมอยากจะถ่ายภาพที่สะท้อนถึงความจริงของชีวิต ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงความยากจน ประเพณีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและสีสันของเมืองใหญ่ เป็นต้น”
และคำแนะนำที่เขาอยากมอบให้แก่ช่างภาพสายแฟชั่นรุ่นใหม่ได้แก่ “มีระเบียบวินัย สิ่งที่ทำให้ผมหัวเสียมากคือการที่มีคนมากมายในกองแต่ไม่มีอะไรจะทำกัน มันไม่ใช่สนามเด็กเล่นมันเป็นสถานที่ทำงาน” เขาหัวเราะ แต่หลังจากนั้นเขาก็เสริมด้วยน้ำเสียงที่จริงจังขึ้น “นอกจากนี้อย่าดูถูกความสามารถคนอื่นและอย่าประเมินค่าตัวเองสูงไป”
4. ธาดา วาริช

ธาดา วาริช เป็นหนึ่งในช่างภาพแฟชั่นชั้นนำของประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะช่างภาพที่ถ่ายทอดภาพศิลปะอันเร้าใจ ซึ่งจะเห็นผลงานของเขาได้อยู่เสมอบนหน้านิตยสารแฟชั่นชั้นนำ เช่น Vogue และ GQ สมัยที่เขายังเด็กเขายอมรับว่าเขาไม่รู้ว่าเขาต้องการจะทำอะไรในชีวิต “ผมรู้ว่าผมชอบศิลปะและผมเคยชอบเพ้นท์ สมัยก่อนที่ผมจะเข้ามหาวิทยาลัย เลยเกิดเป็นความสนใจในด้านการออกแบบกราฟิกและการถ่ายภาพ ผมมีตัวเลือกในใจอยู่สองทางและไม่แน่ใจว่าจะต้องเลือกตัวไหน ในท้ายที่สุดเพราะโดยธรรมชาติแล้วผมเป็นคนที่ค่อนข้างขี้เกียจ ผมเลยคิดว่าการถ่ายภาพเป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะที่คุณสามารถได้รับผลลัพธ์ที่ดีได้เพียงแค่กดปุ่มให้ถูกเวลา” เขาหัวเราะ
ในช่วงแรกบนเส้นทางสายอาชีพนี้ คุณธาดาได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะเยอรมันและช่างภาพแฟชั่น Juergen Teller “ผมขอพูดเลยว่ามันมีบางอย่างเกี่ยวกับงานของศิลปินก่อนที่พวกเขาจะมีชื่อเสียงที่ผมรู้สึกว่าเจ๋งและมีเสน่ห์มาก ผมคิดว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่ช่างภาพหรือศิลปินโดยรวมมีเวลาเพื่อปลดปล่อยและแสดงความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้อย่างอิสระโดยไม่มีข้อจำกัดทางธุรกิจ มันเป็นสิ่งที่ผมเข้าใจเพราะในงานระดับมืออาชีพของผมผมมักจะถูกตีกรอบโดยความต้องการของลูกค้า ผมต้องเตือนตัวเองเสมอว่าผมไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพที่ผมต้องการ แต่ผมสร้างผลงานตามที่นายจ้างต้องการ ”
เขาอธิบายถึงสไตล์ของเขาว่าเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เขาเปรียบการอยู่หลังเลนส์เสมือนกับการอยู่ในสงครามจิตวิทยาที่มีกล้องเป็นอาวุธ “บางครั้งคุณต้องต่อสู้กับความต้องการของลูกค้าและใช้เวลานานกว่าจะได้ช็อตเด็ด จริง ๆ แล้วผมคิดว่าการเป็นช่างภาพที่ดีคือการเป็นคนซื่อสัตย์ หากคุณไม่สามารถซื่อสัตย์กับตัวเองได้คุณจะมีข้อบกพร่องในฐานะศิลปินเสมอ” เขากล่าว
ช่างภาพวัย 44 ปีผู้มีประสบการณ์ทำงานถ่ายภาพแฟชั่นมานานกว่าสองทศวรรษ แน่นอนว่ามีคุณสมบัติพอที่จะแสดงความคิดเห็น “โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าอุตสาหกรรมสายภาพศิลปะที่นี่มีความยุ่งเหยิงเล็กน้อย ดูเหมือนว่าเราจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศและภาพลักษณ์ และผมคิดว่าเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เซ็กซี่และเจ๋งกับสิ่งที่อุจาทตากลายเป็นเส้นที่พร่ามัว โซเชียลมีเดียและคนมีชื่อเสียงมีส่วนร่วมอย่างมากในเรื่องนี้ เราทุกคนต้องการที่จะให้คนรักและชื่นชอบ อยากให้คนติดตาม และหากการโพสต์ภาพวาบหวิวของตัวเองช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ดี ก็โอเค ในแง่นี้ผมมองว่าตัวเราเป็นศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของเราเอง เราได้ยินเรื่องแย่ ๆ เกี่ยวกับการทำให้เรากลายเป็นวัตถุทางเพศ แต่แล้วเราเองนี่แหล่ะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งนั้น”
ในเวลาว่างที่เขาไม่ได้รับงาน ธาดาสนุกไปกับการถ่ายภาพทุกอย่างรอบ ๆ ตัวเขา “ต่างกับที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน ไม่ครับ ช่างภาพไม่จำเป็นต้องพกกล้องติดตัวตลอดเวลา” เขากล่าว “ผมโอเคกับ iPhone มันเบาและใช้ได้จริงและถ่ายภาพได้ดีอย่างสมบูรณ์แบบ”
และนี่ก็เป็น 4 ช่างภาพสัญชาติไทย ฝีมือชั้นครู ที่เป็นหัวหอกในวงการช่างถ่ายภาพบุคคล ที่วงการแฟชั่นให้การยอมรับ
จะทำอย่างไรเมื่อต้องเอาชีวิตรอดในดงซอมบี้ กับภาพยนตร์ #ALIVE กำลังเป็นที่น่าจับตามองสุดๆ กับวงการภาพยนตร์เกาหลี ที่กำลังมาแรงมาก ในยุคนี้ ซึ่งนอกจากซีรีส์เกาหลีที่คนทั่วบ้าน ทั่วเมืองฮิตกันจนไม่เป็นอันหลับอันนอน
อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม : 17 เรื่องน่ารู้ของเสือโคร่ง